สภาพอากาศร้อนกลายเป็นสิ่งที่คู่บ้านคู่เมืองของเรา และดูเหมือนจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการป้องกันความร้อนเข้าบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม หลายๆ คนให้ความสนใจกับการกันความร้อนที่หลังคา แต่อาจมองข้ามการกันความร้อนจากช่องประตูและหน้าต่าง ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ความร้อนจะเข้าสู่ตัวบ้านโดยตรง การเลือก กระจก สำหรับประตู-หน้าต่างที่ดี จะช่วยป้องกันความร้อนจากสภาพอากาศและจากแสงแดด
กระจกกันความร้อนเป็นวัสดุที่นิยมใช้สำหรับประตู-หน้าต่าง ซึ่งมีตัวเลือกอยู่ประมาณ 5 ชนิด โดยกระจกต่างๆ และฟิล์มนั้นมีความแตกต่างทั้งคุณสมบัติ การติดตั้ง และราคา
1.กระจกสี (Tinted Glass)
กระจกสีตัดแสงถือเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในอดีต กระจกยิ่งมีสีเข้มเท่าไร ก็ช่วยตัดความจ้าของแสงแดด สีที่เข้มช่วยลดความร้อนได้ประมาณหนึ่งแต่ไม่สามารถ ตัดคลื่นรังสีความร้อนได้ หากต้องการลดความร้อนให้ได้ดี จึงต้องใช้กระจกสีเข้มมากๆ ซึ่งมีทำให้แสงส่องผ่านได้น้อยทำให้ภายในบ้านดูมืด แถมกระจกยิ่งมีสีเข้มก็ยิ่งเป็นตัวสะสมความร้อน
2.กระจกเขียวตัดแสง (Heat Absorbing Glass)
ถือเป็นการพัฒนากระจกให้กันความร้อนโดยเติมออกไซด์โลหะประเภทเหล็ก โคบอลต์ หรือซีลีเนียมที่มีคุณสมบัติกักคลื่นความร้อนหรือคลื่นแสงอินฟาเรดไว้ไม่ให้เข้าสู่ภายในบ้าน ซึ่งสารในกระจกนั้นทำให้เนื้อกระจกมีสีเขียว แต่ยังดูโปร่งใสกว่ากระจกสีแบบเดิม กระจกเขียวตัดแสงช่วยป้องกันความร้อนได้มากถึง 50% และมีราคาสูงกว่ากระจกใสราว 20% จึงเป็นกระจกที่ได้รับความนิยมแม้ในปัจจุบัน ข้อด้อยของกระจกประเภทนี้คือสารโลหะในเนื้อกระจกจะสะสมความร้อน ในบางกรณีพบว่ากระจกสะสมความร้อนไว้มากจนแตกร้าวเอง ทำให้บ่อยครั้งเราเห็นกระจกชนิดนี้ทำเป็นเทมเปอร์เพื่อป้องกันการแตกนั้นเอง
3.กระจกสะท้อนแสง (Reflective Glass)
กระจกประเภทนี้มีคุณสมบัติกันความร้อนโดยการสะท้อนแสงออกไป โดยเป็นการเคลือบสารสะท้อนแสงบนผิวกระจก ซึ่งช่วยสะท้อนแสงออกไปจึงช่วยกันความร้อนเข้าสู่ภายในบ้านได้ดี ข้อดีอีกอย่างของกระจกชนิดนี้ในช่วงกลางวันจะช่วยสร้างความเป็นส่วนตัว เพราะตอนกลางวันเราจะมองเห็นภาพสะท้อนของภายนอก แต่ในยามกลางคืนภายในนั้นสว่างกว่าภายนอก ก็จะกลายเป็นว่าสามารถมองเห็นภายในได้ในขณะที่ภายในจะเห็นเงาสะท้อน ดังนั้นเราจะเห็นชนิดกระจกนี้ใช้กับอาคารสำนักงาน แต่ช่วยสะท้อน ความร้อนได้มากถึง 60% และยังสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยให้กับตัวอาคาร ข้อเสียของกระจกนี้คือ การสะท้อนแสงออก ดังนั้นแน่นอนว่าแสงจะส่องผ่านได้น้อยลง ภายในจึงมืดและอาจต้องติดตั้งแสงภายในช่วยส่องสว่าง นอกจากนี้แสงที่สะท้อนเสมือนกระจกเงานั้่น อาจเป็นการรบกวนพื้นที่โดยรอบอาคาร
4.กระจกโลว์อี (Low Emission Glass)
กระจก Low-E (Low Emission) เป็นกระจกที่มีการถ่ายเทความร้อนต่ำ เพราะผิวกระจกมีการเคลือบสารโลหะเงิน (Ag) (มีคุณสมบัติดีกว่าสารออกไซด์โลหะประเภทเหล็ก โคบอลต์ หรือซีลีเนียมในกระจกเขียวตัดแสงที่จะสะสมความร้อน) ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติสะท้อนคลื่นพลังงานความร้อน แต่ยังมีความใสให้แสงสว่างส่องผ่านได้ดี สารโลหะเงินนอกจากสะท้อนความร้อนแล้วช่วยให้กระจกยังมีค่าการถ่ายเทความร้อนที่ต่ำเพียง 2-30% เท่านั้น ขึ้นอยู่กับระดับการเคลือบสารโลหะเงิน อย่างไรก็ดี สารโลหะเงินที่เคลือบนั้นจะทำให้ปฏิกิริยากับสภาพอากาศและเปลี่ยนสภาพเป็นคราบสีดำ ดังนั้นกระจกโลว์จึงมักเป็นกระจกเทปเปอร์ที่สารเคลือบถูกปกป้องไว้ภายในระหว่างกระจกสองแผ่น หรือเป็นกระจกแผ่นหนึ่งในระบบของกระจกฉนวน 2 ชั้น
5.กระจกฉนวน 2 ชั้น (Double Insulated Glass)
กระจกฉนวน 2 ชั้น เป็นการนำกระจกสองแผ่นมาประกอบเป็นชุดกระจกที่มีตั้งแต่ 2 แผ่นชั้นขึ้นไป ซึ่งบางครั้งยังมีการนำกระจกโลว์อีมาใช้เป็นหนึ่งในแผ่นกระจกอีกด้วย ระหว่างกระจกแต่ละชิ้นจะเว้นช่องว่าง และซีลปิดสนิทรอบด้าน ภายในช่องบรรจุอากาศแห้ง ก๊าซอาร์กอนหรือกาซคริปทอน ที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนได้มากถึง 90% และยังช่วยไม่ให้เกิดฝ้าหรือหยดน้ำบนผิวกระจกที่มักเกิดขึ้นกรณีที่อุณภูมิด้านนอกและด้านในแตกต่างกัน ดังนั้นชุดกระจกชนิดนี้ต้องใช้ร่วมกับชุดกรอบบานเฉพาะซึ่งจะติดตั้งสำเร็จมาจากโรงงาน ไม่สามารถแก้ไขขนาดกรอบบานหน้างานได้ กระจกฉนวน 2 ชั้นถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยป้องกันความร้อน ป้องกันเสียง และช่วยลดการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศได้มาก จึงมีราคาสูงและขึ้นอยู่กับขนาดบาน ประเภทของก๊าซภายใน และชนิดของกระจกที่ใช้
ที่มา :http://www.thaihomemaster.com